วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วันอานันทมหิดล

วันอานันทมหิดล
วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่20กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก ประเทศเยอรมัน ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพระชนมายุ 3 พรรษา ได้เสด็จกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนี โดยเสด็จประทับ ณ วังสระปทุม ในปีต่อมาได้ทรงศึกษาชั้นอนุบาล ณ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย แล้วจึงเสด็จไปประทับต่อ ณ เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

มื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลในขณะนั้นมีมติเห็นชอบให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์สืบราชสันติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล" เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภาและเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลักจากขึ้นครองราชย์ ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา ตลอดระยะเวลา2 เดือน ที่ทรงเสด็จประทับอยู่ในเมืองไทย ได้ทรงออกเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ จากนั้นพระองค์ทรงเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การคมนาคมติดต่อเป็นไปโดยลำบาก พระองค์ท่านจึงไม่ทรงมีโอกาสติดต่อกับประเทศไทย เมื่อสงครามสงบ พระองค์จึงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ในการเสด็จนิวัตเมืองไทยครั้งนี้ เดิมทรงตั้งพระราชหฤทัยจะประทับอยู่ในเมืองไทยเพียง 1 เดือน จากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ทันการเปิดภาคเรียนใหม่ในกลางเดือนมกราคม แต่เนื่องจากทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะประมุขของประเทศ ทำให้ทรงเลื่อนเวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ออกไป

ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนครเมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลา 12 ปีเท่านั้น

ปวงชนชาวไทยต่างรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการจึงร่วมใจน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันอานันทมหิดล" ในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ทุกรุ่นจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นไว้หน้าตึกอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล" ขึ้น เพื่อสนับสนุนนักเรียนไทยผู้มีความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยมมีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการจนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์พัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าต่อไป โดยมูลนิธินี้ไม่มีการสอบคัดเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะสรรหาผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาด

กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในวันอานันทมหิดล
1.พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรซึ่งประดิษฐานหน้าอาคาร "อานันทมหิดล" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ของคณาจารย์ แพทย์ พยาบาล นิสิตแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

3.พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ อาคารวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

4.การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล เพื่อออกรับบริจาคโดยนิสิตแพทย์ รายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

5.การจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องใน วันอานันทมหิดล ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

6.การจัดงานเสวนาเนื่องสัปดาห์วันอานันทมหิดล

7.กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก วิกิพีเดีย, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น